ซื้อขายรถยนต์ แต่ยังไม่ส่งมอบเล่มทะเบียนและเปลี่ยนชื่อให้ผู้ซื้อ กรรมสิทธิ์โอนเป็นของผู้ซื้อรถยนต์หรือไม่

โจทก์ร่วมซื้อรถยนต์ตู้จากจำเลยในราคา 310,000 บาท จำเลยรับชำระราคาแล้ว 200,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 และ 458 ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อ ในใบคู่เมือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น แม้จะได้ความว่าโจทก์ร่วมยังค้างชำระค่ารถยนต์ตู้อยู่ก็ตาม หากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ร่วมผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อขอให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้ครบถ้วน จำเลยหามีสิทธิที่จะติดตามเอารถยนต์ตู้คันที่ขายไปนั้นคืนมาโดยพลการได้ไม่
การที่จำเลยบอกกับ ท. ซึ่งเป็นเพียงคนขับรถยนต์ตู้ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมว่าจะมาเอารถยนต์ตู้ไป ท. มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้และมิใช่ผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมให้จำเลยกระทำการเช่นนั้น จึงเป็นการบอกกล่าวให้รับทราบเท่านั้น และ ท. มิได้มอบกุญแจรถยนต์ตู้เพื่อให้จำเลยนำรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์เพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท ดังนั้น การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2553

สรุป ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อ ในใบคู่เมือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น กรณีตามฏีกานี้ในสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกรรมสิทธิ์จึงโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญา แต่หากในสัญญาซื้อขายกำหนดว่าจะต้องชำระราคาให้ครบถ้วนก่อนจึงจะทำการโอนทางทะเบียน ณ กรมการขนส่ง อย่างนี้จะเป็นสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขกรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้จนกว่าจะชำระเงินครบถ้วน

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 310,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาวนิตยา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์จำนวน 310,000 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วย (ที่ถูกข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้จำเลยคืนรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 7 ฌ – 9297 กรุงเทพมหานคร หรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 310,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์สัญญาซื้อขายแล้ว โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท และในสัญญาข้อ 3 ระบุว่าจำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใด ดังนั้น จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453, 458 แม้จำเลยจะนำสืบว่ายังมิได้ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และโอนชื่อในทะเบียนให้แก่โจทก์ร่วมก็ตาม แต่ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ตามทางนำสืบโจทก์ปรากฏว่า จำเลยส่งมอบรถยนต์ตู้ให้โจทก์ร่วมรับไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 และรับชำระเงินจากโจทก์ร่วมจำนวน 200,000 บาท ตามสัญญา แม้จะได้ความว่าโจทก์ร่วมยังค้างชำระหนี้อยู่ก็ตาม หากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ร่วมผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีแพ่งเพื่อขอให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้ครบถ้วน จำเลยหามีสิทธิที่จะติดตามเอารถยนต์ตู้คันที่ขายไปนั้นคืนมาโดยพลการได้ไม่ แม้จำเลยจะนำสืบอ้างสัญญาซื้อขายว่ามีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อไม่ชำระเงินจะยินยอมขายรถคืนนั้น เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวทำขึ้นภายหลังระหว่างจำเลยกับนายสิริศักดิ์ ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ร่วม ไม่ได้ทำขึ้นโดยโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขาย จึงไม่ผูกพันโจทก์ร่วมแต่ประการใด ดังนั้น แม้ตามคำเบิกความของนางสาวทวินัน จะได้ความว่า ในวันที่ 22 มีนาคม 2542 เวลา 14 นาฬิกา พยานเห็นจำเลยมาที่จอดรถและพูดคุยกับพยาน ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พยานจึงทราบว่าจำเลยขับรถยนต์ตู้ไปแล้ว โดยพยานเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ก่อนและหลังวันที่ 22 มีนาคม 2542 จำเลยบอกพยานว่าจะมาเอารถยนต์ตู้ไป แม้จะได้ความดังกล่าวการที่จำเลยมาบอกกับนางสาวทวินัน ซึ่งเป็นเพียงคนขับรถยนต์ตู้และเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ดังกล่าวและมิใช่ผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมให้จำเลยกระทำการเช่นนั้น จึงเป็นการบอกกล่าวให้รับทราบเท่านั้น อีกทั้งนางสาวทวินันยังเบิกความยืนยันว่า กุญแจรถยนต์ตู้ที่ฝากไว้กับพี่สาวพยานนั้นยังคงอยู่ จึงรับฟังได้ว่านางสาวทวินันมิได้ยินยอมมอบกุญแจรถยนต์เพื่อให้จำเลยนำรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท ดังนั้น การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334