คำร้องทุกข์ ตามกฎหมาย มีบัญญัติไว้ในกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2
(7) คำร้องทุกข์ หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
(8) คำกล่าวโทษ หมายถึง การที่บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น
คำร้องทุกข์ตามกฎหมาย จะต้องเป็นการที่ผู้เสียหาย กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นกระทำโดย มีเจตนาให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับโทษ
คำร้องทุกข์ ตามกฎหมาย มีความสำคัญกับการเริ่มต้น กระบวนการทางอาญา เพราะหากเป็นความผิดอันยอมความกันได้แล้ว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน เว้นแต่จะได้มีคำร้องทุกข์โดยชอบตามกฎหมายเสียก่อน
หากไม่มีคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนก็ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
คำร้องทุกข์ตามกฎหมาย ไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นการที่ผู้เสียหายได้กล่าวต่อ พนักงานสอบสวนว่าประสงค์จะดำเนินคดี แก่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้เสียหาย ก็ย่อมเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ 22267/ 2555 กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วม แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงเป็นการร้องทุกข์แล้วพนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ข้อสังเกต
1 คำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย จะต้องเป็นการที่ผู้เสียหายแจ้ง โดยมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิด ได้รับโทษตามกฎหมาย ดังนั้นการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เพื่อไว้เป็นหลักฐาน หรือเพื่อไม่ให้คดีของตนขาดอายุความ ย่อมเป็นการร้องทุกข์โดยไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย จึงไม่เป็นคำร้องข์ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 ( 7)
ข้อความ ที่มีความหมายว่าประสงค์จะให้ผู้กระทำความผิด ได้รับโทษตามกฎหมาย เช่น ให้เอาตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ ประสงค์จะดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด เป็นต้น
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ฎีกาที่ 6644/2549 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 วรรค 2 แต่ข้อความในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุเพียงว่าผู้เสียหายแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อพิจารณาต่อไปจึงมิใช่การมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) เพราะการสอบสวนความผิดนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120
2 คำร้องทุกข์เมื่อมีการร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษแล้วแม้ไม่ระบุหรือไม่รู้ว่าผู้กระทำความผิดเป็นใครก็ย่อมเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตัวอย่างฎีกาที่ 689 4/2 549 หนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมมีข้อความว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ขอร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปถือถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ( 7 ) แล้วไม่จำเป็นต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำความผิด
3 การร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อมอบคดี ให้กับเจ้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดการ ผู้เสียหายต้องทำ คำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในกำหนดอายุความ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความกันได้ ดังนั้นผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความด้วย จึงจะถือเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายและพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดี
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย มีความสำคัญเมื่อผู้เสียหายได้รับความเสียหายจาก การกระทำความผิดต่อกฎหมาย ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความกันได้ ต้องมีการคำร้องข์ทุกข์เสียก่อน จึงเกิดสิทธิในการเริ่มต้นคดีแต่พนักงานสอบสวน และอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ ดังที่ปรากฏในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาณา มาตรา 120 แล มาตรา 121
ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาณา มาตรา 120 บัญญัติว่า ” ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น”
ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาณา มาตรา 120 บัญญัติว่า ” พนักงานสอบสวนมีอำนาจ สอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอวสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ “
ตัวอย่างฏีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2544 หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วม มีข้อความแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ ร. จัดการแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้ มีอำนาจ แจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้จำเลยต้องรับโทษทั้งได้ความว่า เหตุที่แจ้งความร้องทุกข์ ก็เพราะไม่ต้องการให้เช็คขาดอายุความ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เมื่อความผิดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดี ความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่มีคำร้องทุกข์ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสองการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3093/2523 เมื่อข้อความในบันทึกตามรายงานประจำวันแสดงถึงเจตนาของโจทก์กับพวกจะว่ากล่าวเอาผิดฐานบุกรุกแก่จำเลยแล้ว ก็ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว แม้จะมีข้อความว่าโจทก์กับพวกผ่อนผันให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปภายในกำหนด 2 เดือนก็ตาม ก็เป็นเพียงรอการดำเนินคดีไว้เท่านั้น หาใช่โจทก์ยินยอมไม่เอาความกับจำเลยต่อไปแต่ประการใดไม่
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทยังเป็นของโจทก์กับพวกอยู่ แม้น้ำจะเซาะที่ดินโจทก์กับพวกตรงที่พิพาทจนกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งไปแล้วก็ตาม แต่โจทก์กับพวกก็ยังใช้สิทธิเป็นเจ้าของโดยใช้เป็นทางเข้าออกอยู่ มิได้ทอดทิ้งให้เป็นที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่พิพาทจึงไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2530 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ ว่าข้อความตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.7 เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าตามหลักฐานการแจ้งความร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ.7 ฟังได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) วิเคราะห์ศัพท์คำว่า”คำร้องทุกข์” ไว้ว่า หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ จากรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า “จึงมอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อประสงค์ให้นายทรงฤทธิ์อุทัยวัฒนาพงศ์ ได้รับโทษตามกฎหมาย และทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด ประสงค์ขอรับเช็คของกลางสองฉบับคืนไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับนายทรงฤทธิ์อุทัยวัฒนาพงศ์ และผู้เกี่ยวข้องในทางศาลเองต่อไป โดยไม่ขอมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแต่อย่างใด” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานประจำวันดังกล่าว แม้จะมีข้อความว่า มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อประสงค์ให้จำเลยรับโทษตามกฎหมาย แต่ก็มีข้อความต่อไปอีกว่า โจทก์ประสงค์ขอรับเช็คของกลางคืนไป เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับจำเลย และผู้เกี่ยวข้องในศาลเองต่อไป แสดงว่าในขณะที่แจ้งความนั้น โจทก์ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย เพราะข้อความที่ว่า โจทก์ขอรับเช็คคืนไป เพื่อดำเนินการฟ้องร้องเอง เท่ากับย้ำให้เห็นเจตนาของโจทก์ผู้แจ้งว่า ไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป รายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.7 จึงมิใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7)
ที่โจทก์ฎีกาสรุปความได้ว่า โจทก์ร้องทุกข์ดังกล่าวโดยเจตนาที่จะนำคดีมาฟ้องเสียเอง และต่อมาโจทก์ก็นำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล ถือได้ว่าการแจ้งความของโจทก์ได้กระทำโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ จึงเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว เห็นว่าการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นการแจ้งความ ในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี เมื่อบันทึกการแจ้งความ มีข้อความแสดงชัดว่าในขณะที่แจ้ง โจทก์ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย การที่โจทก์มาฟ้องคดีเองในภายหลัง หามีผลทำให้คำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว กลับกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2550 ปัญหาเรื่องผู้เสียหายร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 ในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งเป็นคำร้องทุกข์มีข้อความระบุอย่างชัดแจ้งว่า พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้เสียหาย มิใช่ในฐานะส่วนตัว การร้องทุกข์แทนผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลจะต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้ ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้เสียหายระบุว่า พ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวและไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการว่าหากจะกระทำแทนผู้เสียหายจะต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับด้วย ดังนั้น พ. จึงมีอำนาจดำเนินการหรือร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้โดยไม่จำต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับลงในช่องลายมือชื่อผู้กล่าวหาในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกจ์ด้วย ถือได้ว่า พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้