เจ้าหนี้ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ มาตรา 237 ต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ขณะใด

ต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้อยู่ก่อนหรือขญะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรม ตาม ป.พ.พ มาตรา 237 และไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2535

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 3 โอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชายโดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายว่าลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ จึงต้องถือว่าผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งจะทำให้โจทก์เสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น และการร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้ความว่าลูกหนี้ต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อน หรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเป็นหนี้โจทก์หลังจากได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วถึง 3 ปี ขณะที่จำเลยที่ 3 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 3 ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ 

คำพิพากษาย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชายโดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉล ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 113 หากไม่สามารถโอนกลับคืนได้ก็ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาทรัพย์สินพร้อมด้วยดอกเบี้ย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้ผู้คัดค้านโดยสุจริต ไม่เป็นการฉ้อฉลและคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 3 โอนให้แก่ผู้คัดค้าน โดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายว่า ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบจึงต้องถือว่าผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น ซึ่งการร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้ความว่าลูกหนี้ต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนหรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 และจำเลยที่ 3เพิ่งเป็นลูกหนี้โจทก์เมื่อปี 2528 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 โอนที่ดินให้ผู้คัดค้านแล้วถึง 3 ปี ขณะจำเลยที่ 3โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 3 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านโดยไม่มีค่าตอบแทนก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้
พิพากษายืน 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113