ครอบครองที่ดินของผู้อื่น แต่เข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง อ้างครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่

สรุป ถือว่าเป็นการเข้ายึดถือครองครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ มาตรา 1382แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2552

การที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่งการครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเองก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย 

คำพิพากษาย่อยาว

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัศ (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 77 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา มีชื่อนายเอนกและนางสว่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทางด้านทิศเหนือมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 เมื่อปี 2470 นายนุ่ม ปู่ของผู้ร้องทั้งห้าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 จากนางฮวนแล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวและเข้าครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 เป็นเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 2 งาน ด้วย ต่อมาปี 2481 นายนุ่มยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ให้นายต่วนบิดาของผู้ร้องทั้งห้า เมื่อนายต่วนถึงแก่ความตาย นางผม มารดาของผู้ร้องทั้งห้ารับโอนมรดกที่ดินมาจนกระทั่งนางผมถึงแก่ความตายผู้ร้องทั้งห้าจึงรับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ต่อมา รวมระยะเวลาที่นายนุ่ม นายต่วน นางผม และผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัศ (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 2 งาน โดยการครอบครองปรปักษ์ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทของนางสว่าง ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นทายาทของนายเอนก นางสว่างและนายเอนกเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 เดิมนายต่วนเข้าทำนาในที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ที่นายนุ่มบิดายกให้และเข้ามาทำนาในที่ดินพิพาท โดยขออนุญาตนายองุ่นเจ้าของที่ดินในขณะนั้น เมื่อนายต่วนถึงแก่ความตาย นางผมได้รับมรดกที่ดินแต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อ สำหรับผู้ร้องทั้งห้านั้นเมื่อรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 จากนางผมแล้วก็ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้าเคลือบคลุมและไม่บรรยายว่าได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างไร ขอให้ยกคำร้องขอ
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตาย นายประเทืองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้ร้องที่ 2 และนางสมพรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้ร้องที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เฉพาะส่วนพื้นที่ภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ร.2 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งห้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาจำนวน 200 บาท แก่ผู้ร้องทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีชื่อนายเอนก และนางสว่างเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.1 ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ในกรอบเส้นสีแดง ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ร.2 ที่ดินพิพาทอยู่ติดกับที่ดินด้านใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งผู้ร้องทั้งห้าได้รับมรดกมาจากนางผม ผู้เป็นมารดา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่าผู้ร้องทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ผู้ร้องทั้งห้ามีผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 นายประเทือง บุตรของผู้ร้องที่ 2 และนางสมพร ภริยาของผู้ร้องที่ 3 เป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันว่าเมื่อปี 2470 นายนุ่มปู่ของผู้ร้องทั้งห้าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 มาจากนางฮวนและเนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 เมื่อนายนุ่มซื้อมาจากนางฮวนแล้วได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ ทำนา ทำไร่ ทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของติดต่อกันโดยตลอดมา

เมื่อปี 2481 นายนุ่มยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ให้แก่นายต่วนบิดาของผู้ร้องทั้งห้า นายต่วนได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และที่ดินพิพาทต่อมาจนถึงปี 2500 นายต่วนถึงแก่ความตาย นางผมมารดาของผู้ร้องทั้งหาได้รับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวต่อมา โดยนางผมและผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และที่ดินพิพาทนับแต่นายต่วนถึงแก่ความตายด้วยเช่นกัน ต่อมานางผมถึงแก่ความตาย ผู้ร้องทั้งห้าจึงเข้ารับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ต่อจากนางผมและผู้ร้องทั้งห้ายังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และที่ดินพิพาทสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่นายนุ่มปู่ของผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อมาจนกระทั่งถึงผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลา 70 ปีแล้ว

การครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ร้องทั้งห้ายังมีนางทองย้อย นายทองหล่อ และนายเที่ยง เป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันด้วยว่าพยานทั้งสามมีที่ดินอยู่ข้างเคียงที่ดินพิพาทรู้จักผู้ร้องทั้งห้าและบิดามารดาของผู้ร้องทั้งห้าเป็นอย่างดี เห็นบิดามารดาของผู้ร้องทั้งห้าและผู้ร้องทั้งห้าร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทโดยเข้าทำนาและปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว ฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสามมีผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอนกผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นายเอนกถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อปี 2539 ขณะที่นายเอนกยังมีชีวิตอยู่นั้น นายเอนกได้เคยชี้ให้ผู้คัดค้านที่ 3 ดูที่ดินพิพาทซึ่งอยู่เขตติดต่อกับที่ดินของนายต่วน ผู้คัดค้านที่ 3 เห็นนายต่วนครอบครองทำประโยชน์เฉพาะในที่ดินของนายต่วน ซึ่งต่อมาตกเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเท่านั้น ส่วนที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นป่ารกร้างไม่มีผู้ใดเข้าครอบครองทำประโยชน์ เมื่อปี 2535 มีการรังวัดที่ดินข้างเคียงที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไประวังแนวเขตที่ดิน ผู้ร้องที่ 1 ก็ไประวังแนวเขตของตนเองด้วยเช่นกัน ผู้คัดค้านที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 ได้ลงชื่อรับรองแนวเขตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ตามเอกสารหมาย ค.1 และ ค.3 เห็นว่า นอกจากผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และนางสมพรเบิกความเป็นพยานผู้ร้องทั้งห้าแล้ว ยังมีนางทองย้อย นายหล่อ และนายเที่ยง เจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในคดีอย่างใด เป็นพยานเบิกความอย่างสอดคล้องต้องกัน ส่วนผู้คัดค้านทั้งสามคงมีผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพยานเบิกความลอยๆ เป็นพยานปากเดียว พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งห้าจึงมีน้ำหนักให้รับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสาม ที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาในทำนองว่า ตั้งแต่นายนุ่มเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองเป็นการครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงนั้น ข้อนี้เห็นว่าการที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่งการครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้จะฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเอง ก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้นส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ครบระยะเวลา 10 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่า เมื่อปี 2535 ได้มีเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาท ผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไประวังแนวเขตด้วย การระวังแนวเขตดังกล่าวผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ชี้แสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ร้องทั้งห้าแต่อย่างใด หากผู้ร้องทั้งห้ามีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเองหลังจากปี 2535 จนถึงวันฟ้อง ก็ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งห้ายังยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลาไม่ครบ 10 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้น ข้อนี้เห็นว่าจากพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสามตามที่ผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความอ้างว่าผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไประวังแนวเขตพร้อมทั้งลงชื่อรับรองแนวเขตการรังวัดที่ดินไว้ตามเอกสารหมาย ค.1 และ ค.3 นั้น การระวังแนวเขตของผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 เป็นการระวังแนวเขตในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10615 ของนายสุรเดชซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ของผู้ร้องทั้งห้าและที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ของผู้คัดค้านที่ 3 ดังนั้น การที่ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้พูดคุยกับผู้คัดค้านที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทหรือไม่ได้ระวังแนวเขตโดยชี้แสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์ด้วยก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ร้องที่ 1 ดังกล่าวก็ยังมิอาจจะถือได้ว่าผู้ร้องทั้งห้าไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ หรือเป็นการสละการยึดถือครอบครองที่ได้ครอบครองมาตั้งแต่ปู่ของผู้ร้องแต่อย่างใด ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องทั้งห้าจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ที่มา https://deka.in.th