หมิ่นประมาท เป็นอย่างไร หมิ่นประมาทในทางอาญา

หมิ่นประมาท คือ อีกหนึ่งคำ หรือ ข้อกฏหมายที่ท่านคงได้ยินกันบ่อยในปัจจุบัน แล้วความหมายของหมื่นประมาทตามกฏหมายคืออะไร และแค่ไหนที่เป็นหมิ่นประมาท มาดูกันครับ ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากตัวบทกฏหมายหมิ่นประมาทจะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

1 ผู้ใด หมายถึง บุคคลใดๆ ก็ได้

2 ใส่ความผู้อื่น     ( พูด หรือเขียน ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท )

3 ต่อบุคคที่สาม

4 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

ซึ่งความสำคัญอยู่ ใส่ความผู้อื่น ต้องมีลักษณะ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง หรือ กล่าวยืนยันความจริง หรือความเท็จ หรือเอาเรื่องไม่จริงไปแต่งความใส่ร้าย หรือเอาเรื่องจริงไปกล่าว ก็เป็นความผิด หรือแม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาไปพูดให้บุคคลอื่นฟังก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

 หมิ่นประมาท ต้องเป็นการใส่ความอาจจะใส่ความโดยวิธีอย่างไรก็ได้ เช่น พูด เขียน  หรือการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใด ก็ได้

ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกา มีข้อสังเกตดังนี้

– คำหยาบคาย ไม่เป็นหมิ่นประมาท หรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่นด่าผู้อื่นว่าหน้า….

( อวัยวะเพศหญิง ) ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ จึงไม่เป็น หมิ่นประมาท

– ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน สามารถเป็นไปได้ เช่น กล่าวหมิ่นประมาท ว่ารับสินบน อย่างนี้เป็นไปได้ แต่ด่าว่าไอ้หน้าส้นตีน อย่างนี้เป็นไปไม่ได้จึงไม่เป็น หมิ่นประมาท

– ต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง และยืนยันข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน การยืนยันเหตการณ์ในอนาคตจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาท

– โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง กล่าวคือเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้ถูกใส่ความถูกลดคุณค่าลง

หมิ่นประมาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2531

ข้อความที่กล่าว จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่า ข้อความที่กล่าวนั้น ถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูก หมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว การที่จำเลยเบิกความ เป็นพยานไปตามที่ทนายความซักถามว่า โจทก์ไม่ค่อยทำหน้าที่ธนาคารได้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ 10 เปอร์เซ็นต์ ฐานไม่ค่อยมาทำงาน ซึ่งโจทก์ก็รับว่าเป็นความจริง เพียงแต่เลี่ยงไปว่าถูกลงโทษฐานออกไปนอกสถานที่ นั้นจำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการ พิจารณาคดีมิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์ให้ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยเบิกความว่าโจทก์เป็นหัวหน้าแผนกประจำธนาคารนั้น โจทก์จะมีตำแหน่งที่แท้จริงเป็นหัวหน้าแผนกประจำกองหรือหัวหน้าแผนกประจำธนาคารวิญญูชนทั่วไป ได้ยินได้ฟังแล้วหามีความเข้าใจในข้อแตกต่าง ของความหมายแห่งถ้อยคำ ของตำแหน่งหน้าที่ทั้งสองไม่ ผู้ได้ยินได้ฟังก็ไม่ถือหรือเข้าใจว่าโจทก์ เป็นคนไม่ดีอันเป็นการใส่ความ คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

พูดว่ารับเงินใต้โต๊ะ พูดใส่ความให้ถูกมองว่าเป็นคนทุจริตเป็น หมิ่นประมาท

หมิ่นประมาท ถ้าด่าว่าเป็นกระหรี่ หญิงโสเภณีหรือค้าประเวณี เป็นการหมิ่นประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกา 2371/2522 ผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาทได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ได้ทำการสอบสวนปากคำผู้เสียหายและพยานอีกปากหนึ่ง โดยยังไม่ได้ทำบันทึกการมอบคดีและลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนผู้นั้นก็ได้ย้ายไปรับราชการที่อื่นต่อมาพนักงานสอบสวนคนใหม่มาทำการสอบสวนต่อจึงได้ทำบันทึกการมอบคดีและบันทึกประจำวันขึ้นดังนี้ หาทำให้การสอบสวนที่ได้กระทำไปแล้วนั้นเสียไปไม่ เพราะเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนได้แล้วโดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์ซึ่งมีอำนาจฟ้อง จำเลยพูดถึงผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอว่ากระหรี่ที่ดิน คำว่า “กระหรี่” หมายความว่าหญิงนครโสเภณี หรือหญิงค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวรายละเอียดว่า ค้าประเวณีกับใครประพฤติสำส่อนในทางเพศกับใครบ้าง ก็เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำหมิ่นประมาทแล้ว
ผลของการใส่ความผู้อื่น น่าจะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่นั้นศาลมีอำนาจวินิจฉัยเองได้ ไม่จำต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน )

หมิ่นประมาท เมื่อกล่าวว่า พระวัดนี้เลวมากดุหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกา 448/2489 ได้ความว่า จำเลยได้กล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคน ในงานวัดญาโนทัยว่า ” พระวัดนี้ดูหนัง พระวัดนี้เลวมากดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้าง ฯลฯ ” ปรากฎว่าพระวัดที่กล่าวนี้มีอยู่ ๕ รูป พระภิกษุแดง ซึ่งเป็นพระอยู่ในวัดนี้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยมิได้กล่าวหมิ่นประมาทพระภิกษุแดงโดยฉะเพาะ พระภิกษุแดงจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่มีอำนาจร้องทุกข์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระภิกษุ ในวัดนั้นทุกรูป และพระในวัดนั้นก็มีอยู่เพียง ๖ รูป พระภิกษุแดงย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้ เพราะเป็นผู้เสียหายด้วยผู้หนึ่ง ส่วนผู้เสียหายอื่น ๆ จะไม่ร้องทุกข์ก็แล้วแต่ท่าน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลย

หมิ่นประมาทเมื่อกล่าวว่า คนจัญไรเลวทราม เป็นเสนียด ไม่มงคล เป็นการหลบหลู่เหยียดหยาม (คำพิพากษาศาลฎีกา 7301/2559 จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า “เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล” อันเป็นถ้อยคำรุนแรง ไร้ความเคารพนับถือ เป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) )

อีเฒ่าหัวหงอก”… “มึง”… : เป็นสรรพนามเรียกคน แต่เปรียบเปรยไปในทางไม่ให้ความเคารพ อับอาย ถูกเหยียดหยาม จึงเป็นการ หมิ่นประมท

คำพิพากษาศาลฎีกา 8752/2558 การที่จำเลยใช้คำ “อีเฒ่าหัวหงอก” และ “มึง” เป็นสรรพนามในการเรียกโจทก์ ผู้เป็นมารดา ซึ่งไม่ปรากฏว่า โดยปกติบุคคลทั่วไปรวมถึงจำเลย ใช้สรรพนามดังกล่าวแทนมารดา คำดังกล่าวไม่ได้มีความหมายว่ามารดา แต่มีความหมายเปรียบเปรยไปในทางไม่ให้ความเคารพและทำให้โจทก์ได้รับความอับอายอันเป็นการแสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามโจทก์ สำหรับเนื้อหาแม้จะถือว่าเป็นการกระทบกระเทียบ แต่ก็ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเป็นไปในทางดูถูกเหยียดหยามโจทก์เช่นกัน การที่จำเลยด่าโจทก์ผู้เป็นมารดาด้วยถ้อยคำดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ถอนคืนการให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าว ได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด

 ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์ หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาฎีกา 10511/2555

การที่จำเลยนำรูปถ่ายเอกสารของผู้เสียหาย ติดไว้ในสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 522/2546 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งเขียนข้อความเพิ่มเติม เกี่ยวกับชื่อบิดามารดารวมทั้งวันเดือนปีเกิดของผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับคดีความแล้ว ใช้ปากกาเน้นข้อความสีเหลืองสะท้อนแสงระบายข้อความในสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวตรงคำว่า เรื่อง ยืมและจำนวนเงินที่ผู้เสียหายจะต้องชำระ รวมทั้งข้อความที่เขียนเพิ่มเติมทั้งหมด จากนั้นนำสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวติดไว้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ตั้งอยู่ในตลาดซึ่งมีประชาชนผ่านไปมา จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยการโฆษณา และไม่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558 ฏีกานี้ไม่เป็นหมิ่นประมาท เพระาเป็นการติชมโดยสุจริต

ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่า เป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตน เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)